เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ
“A good game will stay with us all our lives. A good game makes us long to play it again.”
หลังจากกลับจากแข่งคาทานชิงแชมป์โลก มีหลายโปรเจคเกี่ยวกับบอร์ดเกมวิ่งเข้ามาหาผมแบบชนิดตั้งตัวไม่ทันเลยครับ ซึ่งก็สนุกมากครับที่ได้ไปมีส่วนร่วมกับโปรเจคต่างๆ และขอขอบคุณทุกๆท่านที่เมตตาผมนะครับ
มีโปรเจคหนึ่งที่ผมสนุกกับมันมากเลยครับ สนุกมากจนทำให้ผมหยุดรีวิวบอร์ดเกมมาพักหนึ่งแล้ว นั่นคือ โปรเจค”ออกแบบบอร์ดเกม” ครับ
ว่ากันตามจริง ผมก็นั่งๆคิดบอร์ดเกมมาหลายเกมแล้วครับ แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย คิดไปเรื่อยๆแล้วจดเก็บไว้ จนกระทั่งมีเพื่อนที่รู้จักกัน มาชวนว่า สนใจจะออกแบบบอร์ดเกมเพื่อสอนธรรมะเด็กๆมั๊ย โดยที่ว่าเกมจะให้อิงจากหนังสือของพระสังฆราชองค์ที่แล้ว ที่ชื่อ “จิตตนคร” ครับ
ผมนี่ตอบรับทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยครับ ตอนนี้คิดเกมมาได้หลายส่วนแล้วครับ ไอเดียหลั่งไหลมากๆ จะว่าไปก็ไม่ได้คิดอะไรใหม่หมดหรอกครับ คือ มันเหมือนกับว่า ไอ้ที่เราเคยนั่งคิดเล่นๆมาหลายปี ซึ่งก็ไม่ได้ประติดประต่อเป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ๆมันก็มาร่วมร่างเป็นเรื่องเดียวกันได้เฉยเลย โดยที่มีธีมหนังสือจิตตนครมาเป็นตัวเชื่อมครับ
ถามว่าความยากของการคิดบอร์ดเกมคืออะไร หลักๆก็ ทำยังไงให้มันสนุกครับ ที่นี้ผมก็ศึกษาจาก internet รวมถึง อ่านหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบเกมว่า ทำยังไงคนถึงจะสนุกเวลาเล่นเกม ก็พอได้ข้อสรุป (ส่วนตัว) มาประมาณนี้ครับ
- Originality – เกมมันต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ซ้ำซากเหมือนเกมอื่นๆ
- Replayability – ผู้เล่นต้องรู้สึกว่าเล่นซ้ำๆได้ ไม่ใช่ว่า เล่นกี่ครั้งๆก็เหมือนๆเดิม แบบนี้ไม่สนุกครับ ตัวอย่างเช่นเกมคาทานที่แต่ละเกมเราต้อง set up กระดานใหม่ๆ ซึ่งทำให้เราต้องวางแผนใหม่ๆทุกครั้งที่เล่น ซึ่งมันทำให้แต่ละเกมดูสดใหม่เสมอ
- Surprise – เกมต้องมีอะไรที่คาดเดาไม่ได้ ให้ผู้เล่นรู้สึกตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ เช่น เกม Camel Up! ที่ผมเคยแนะนำไป เกมนี้ Surpriseเต็มเกมเลยครับ ฮากระจัดกระจาย
- Opportunity to win – ทุกๆคนที่เล่นต้องมีโอกาสที่ชนะเท่าๆกันครับ และ ที่สำคัญคือ ทุกคนต้องมีความรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ชนะจนนาทีสุดท้าย ไม่ใช่ว่านั่งเบื่อรอเกมจบ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ชนะแน่ๆ อย่างเช่นเกมเศรษฐีครับ ที่บางคนโดนปล้นจนล้มละลายหมดตัวไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากนั่งเบื่อๆรอเกมจบ
- No elimination – ไม่มีผู้เล่นถูกกำจัดออกไปจากเกม ทุกคนได้นั่งสนุกร่วมกันจนจบเกม
- Control the Result – ผู้เล่นต้องคาดหวังผลลัพธ์ของการกระทำตัวเองได้ครับ ไม่ใช่ว่าทำอะไรลงไปแล้ว แต่ต้องมาลุ้นอีกทีว่าผลจะเป็นยังไง เช่นในเกม Risk ที่พอเราเวลาเราจะยกทัพไปโจมตีเพื่อน เรากับเพื่อนต้องมาทอยเต๋าวัดดวงกันว่าใครจะชนะ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็วางแผนอะไรไม่ได้ครับ มันใช้ดวงมากเกินไป
จริงแล้วมีปัจจัยมากกว่านี้นะครับ แต่ที่ว่ามานี่คือหลักๆที่สำคัญเลย (อย่างน้อยก็สำหรับผม :P) ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ โปรเจคนี้ผมจะทำให้ออกมาให้ดีที่สุดครับ