เทคนิคการเล่นเกม Settlers of Catan : ตอนที่ 2 เลข เลข เลข

pexels-photo-704767.jpeg

ตอนที่สอง ละนะครับ วันนี้คุยกันเรื่องตัวเลข เพราะ ตัวเลขคือทั้งหมดของเกมนี้ครับ
อย่างที่บอกไปในตอนที่แล้วครับว่า ศัตรูของเราคือลูกเต๋า เราต้องหาวิธีรับมือลูกเต๋าให้ได้ ซึ่งลูกเต๋าก็คือตัวเลข ดังนั้น การจัดการตัวเลขคือการรับมือลูกเต๋าครับ

ผมอยากจะบอกว่า เกมนี้ ตัวเลขเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าทรัพยากรครับ (แต่ทรัพยากรก็สำคัญนะ แค่เลขสำคัญกว่า)

เราสามารถพูดเป็นหลักการได้เลยว่า

“เลขดี เลขเยอะ แต่ทรัพยากรน้อย” ดีกว่า “ทรัพยากรหลากหลาย แต่เลขไม่ดี เลขไม่เยอะ”

1. เลขดี! (ความน่าจะเป็น)

ทอยเต๋า 2 ลูกมีความเป็นไปได้ทั้งหมด 36 แบบครับ (6 x 6) ทีนี้ ผลบวกเต๋าออกมา มีได้ทั้งหมด แค่ 11 แบบ คือ เลข 2 ถึง 12

ความน่าจะเป็นของเลขแต่ละตัวเป็นตามนี้ครับ

  • เลข 2 หรือ 12 ความน่าจะเป็นคือ 1 ใน 36
  • เลข 3 หรือ 11 ความน่าจะเป็นคือ 2 ใน 36
  • เลข 4 หรือ 10 ความน่าจะเป็นคือ 3 ใน 36
  • เลข 5 หรือ 9   ความน่าจะเป็นคือ 4 ใน 36
  • เลข 6 หรือ 8   ความน่าจะเป็นคือ 5 ใน 36
  • เลข 7             ความน่าจะเป็นคือ 6 ใน 36

เลขพวกนี้ไม่ต้องไปจำครับ เพราะ ในคาทาน (ภาษาอังกฤษ) บนชิปตัวเลข มันจะมีจุดๆอยู่แล้ว ไอ้จุดๆนี่คือความน่าจะเป็นของเลขครับ เช่นเลข 2 กับ 12 มี 1 จุด แปลว่า มันมีความน่าจะเป็น = 1 ใน 36

สรุปแบบง่ายๆคือ

  • 5-6-8-9     คือ เลขดี   โอกาสออกเยอะ
  • 2-3-11-12  คือ เลขไม่ดี  โอกาสออกน้อย

ข้อดี ของการมีเลขดี ก็ตรงไปตรงมาครับ คือ เรามีโอกาสจะได้ทรัพยากรสูง

2) เลขเยอะ! (จำนวนเลขที่ลูกเต๋าออกได้)

ในคาทาน มีแค่ 10 เลข ครับ คือ 2 3 4 5 6 8 9 10 11 12 ไม่มีเลข 7 นะครับ เพราะคือเลขของโจร (robber)

ถามว่าต้องมีกี่เลขถึงเรียกว่าเยอะ … อย่างน้อยต้องเลข 7 ตัว (ไม่ใช่วิชาดูดวงนะครับ)

ข้อดี ของการมีเลขเยอะคือ มันจะช่วยให้เราได้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่องครับ … บางทีเต๋ามันเอียงๆ ไม่ออกบางเลขนานๆ ถ้าเรามีเลขหลายตัว เราก็ยังสบายอยู่ แต่ถ้าเรามีเลขกระจุกแค่ 3-4 เลข ต่อให้เลขดี แต่ถ้าเจอจังหวะ เต๋าเอียง ก็เงิบได้ครับ การเสียจังหวะ 4-5 ตาติดๆ นี่เสียหายหนักนะครับ

3. เลขดี & เลขเยอะ เอามาใช้ยังไง

ถ้าเข้าใจหลักการ เลขดี กับ เลขเยอะ แล้ว การเอาไปใช้นี่ง่ายมากครับคือ

  • เวลาเลือกสร้างบ้าน 2 หลังแรก เลือกเลขที่ ดีๆ และ ไม่ซ้ำกัน
  • เวลาจะขยายบ้าน ก็ขยายไปเก็บเลขดีๆ หรือ เลขที่ยังไม่มี
  • เวลาจะสร้าง City ก็สร้างบนที่ที่ มีโอกาสออกสูงสุด
  • เวลาย้ายโจร ก็ย้ายไปจุดที่โอกาสออกสูงๆ

จบละครับ ไม่ยากครับ มีแต่หลักการ หลักการนี้ง่ายครับ แต่ปัญหาคือ เวลาเล่นมักจะลืม เช่น มักจะคิดว่า เกมนี้ 4 ออกเยอะ ไปสร้าง city ตรง 4 ดีกว่า … อย่าทำนะครับ

การเลือกบ้านสองหลังแรกเนี่ย ลึกซึ้งนะครับ มีมุมมองมากกว่านี้ แต่ตอนนี้เข้าใจไว้ก่อนครับว่า ตัวเลขเป็นสิ่งที่เรามองเป็นอันดับ 1

ตอนหน้าผมจะมาพูดเรื่อง การแก้กรรม ในเกมคาทาน ครับ

ปล.1 จริงๆแล้ว ทรัพยากรสำคัญนะ แค่เลขสำคัญกว่า

ปล.2 จริงๆแล้ว ท่าเรือก็สำคัญนะ สำคัญกว่าทรัพยากรอีก (สำหรับผมอ่ะนะ)

เทคนิคการเล่นเกม Settlers of Catan : ตอนที่ 1 Mindset

“เกมคาทานใช้ดวงเยอะ” … “คนนี้โชคดีมาก เลยชนะไป” … “ถ้าไม่ออก 7 ตานั้นนะ ผมได้บ้านไปแล้ว” …

คนที่เล่น Settlers of Catan มักจะได้ยินคำพูดเหล่านี้ครับ โดยเฉพาะคำว่า คาทานใช้ดวงเยอะเนี่ย ได้ยินบ่อยมาก จนผมรู้สึกว่า คนแทบทุกคนคิดว่า คาทานเป็นเกมของดวง ไม่ใช่กลยุทธ์

แต่ คาทานเป็นเกมที่มีการชิงแชมป์โลก … ถ้าเป็นเกมที่ใช้ดวงเยอะ เค้าจะจัดชิงแชมป์โลกได้ยังไงครับ? คนที่ชนะก็ชนะอยู่เรื่อยๆ แปลว่าเค้าทำบุญมาดีกว่า? ชาติที่แล้วเค้าตักบาตรด้วยคาทาน?

ถ้าเป็นเกมของดวง คงไม่มีใครสนใจเข้าร่วมแข่งขันอย่างต่อเนื่องทุกปี จริงมั้ยครับ

เหมือนกับโป้กเกอร์น่ะครับ ที่มีการแข่งชิงแชมป์ ถ้ามันเป็นเกมของดวง คนชนะก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และ เราคงจัดอันดับโลกไม่ได้

แต่นี่ไม่ใช่ เราพบว่า คนที่เข้าชิงโป้กเกอร์ก็หน้าเดิมๆ แปลว่า เกมนี้มันมีกลยุทธ์ครับ

บทความนี้เป็นบทความที่รวบรวมจากข้อมูลที่ผมไปอ่านศึกษาจากเวปฝรั่งต่าง ๆ ครับ และจากประสบการณ์การเล่น 700 กว่าเกมครับ

อาจจะเขียนหลายตอนหน่อย ไม่รู้ว่ากี่ตอนจบ ลองติดตามกันนะครับ

บทความแรกที่ผมจะเขียนคือ เรื่อง มุมมองต่อเกมคาทาน ครับ

มันก็เหมือนการใช้ชีวิตอ่ะครับ ผมเชื่อว่า มุมมองที่ถูกจะช่วยให้เราวางแผนได้ถูกต้อง มุมมองที่ผิดจะทำให้เราวางแผนผิดครับ

………………………………………………………

มุมมองต่อเกมคาทาน

1. “คาทานคือเกมของกลยุทธ์ ไม่ใช่เกมของดวง”

ถ้าใครคิดว่า คาทานเป็นเกมของดวง คุณก็จะนั่งรอลูกเต๋า ถ้าออกเจ็ดคุณก็โทษเต๋า ไม่โทษตัวเอง (ที่ไม่ได้วางแผนรองรับเลข 7 ไว้)

แต่ถ้าคุณคิดว่า คาทานคือเกมของกลยุทธ์ คุณจะวางแผนรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ออกเจ็ดคุณก็ไม่กลัว เพราะคุณวางกลยุทธ์รองรับไว้แล้ว

2. “จงศรัทธาในสถิติ”

อันนี้ผมบอกน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่เล่นกับผมตลอดว่า ถ้าจะเล่นคาทาน ต้องศรัทธาในสถิติ ใช้สถิติในการตัดสินใจ ไม่ใช่ดวง
ข้อนี้อธิบายลงดีเทลได้ยืดยาวมากเลยครับ ตั้งแต่ ย้ายโจรไปตรงไหนดี วางบ้านตรงไหนดี ทำอะไรก่อนหลังดี … แต่สรุปได้เหลือง่าย ๆ ว่า ใช้สถิติช่วยตัดสินใจครับ

สถิติในที่นี้ อธิบายง่าย ๆ เลยครับว่า โยนเต๋า 2 ลูก โอกาสออกเลขเจ็ดเยอะที่สุด (โอกาส = 1/6) โอกาสออก 2 กับ 12 น้อยที่สุด (โอกาส = 1/36)

ไม่ต้องไปสนใจครับ ว่า เกมนี้อะไรเคยออกมาแล้ว ออกมาแล้วกี่ครั้ง ทำไม 12 ออกบ่อยกว่า 8 …. ช่างมันเลยครับ ลูกเต๋ามันจำไม่ได้หรอกครับ ว่ามันเคยออกอะไรแล้วบ้าง เราก็ไม่ต้องไปจำเหมือนกัน

3. “ศัตรูของเรา คือ ลูกเต๋า”

ลูกเต๋ามันเป็นเวรเป็นกรรมของคนเล่นเกมนี้ครับ อยากจะได้ไม้ แต่ลูกเต๋าไม่ออก! ดังนั้น ศัตรูหมายเลข 1 ของเราคือ ลูกเต๋าครับ

การวางแผนทั้งหมดของเกมนี้คือ การวางแผนสู้กับลูกเต๋า…มันคือการวางแผนว่า “ไม่ว่าเต๋าออกอะไร เราก็ไม่กลัว”
แต่ลูกเต๋ามัน dynamic ครับ ดังนั้นแผนของคุณก็ต้องพลิกแพลง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามลูกเต๋าที่ออก

คนที่ Control ลูกเต๋าได้ คือ คน Control เกมครับ … ผมไม่ได้หมายถึงการโกงทอยลูกเต๋าให้ออกหน้าที่ต้องการ แต่ผมหมายถึง ไม่ว่าลูกเต๋าออกหน้าอะไร เราก็ไม่กลัว

ถ้าให้สรุปง่ายๆ วิธีการสู้กับลูกเต๋าคือ

1 วางบ้านตรงที่ Propability สูง
2 วางบ้านให้ได้หลายตัวเลข
3 วางบ้านลงพอร์ต

เอาไว้ตอนหน้า เราจะมาลงรายละเอียดกันครับ

เปิด Blog ใหม่

คือแบบว่าผมทำ FB Page เรื่องคาทาน เขียนบทความมาเยอะ แต่ก็เจอว่า FB มันกลับไปอ่านตอนเก่าๆยาก ก็เลยคิดอยากจะรวมไว้ใน Blog เดียวครับ จะได้หาอ่านรวมๆได้ง่ายๆ

“When playing a game, the goal is to winbut it is the goal that is important, not the winning” — Reiner Knizia

post