ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 6: บอร์ดเกมแฟร์ที่เยอรมัน

 

 

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

“Playing Board game is like reading a book. You are not only enjoying, but you also always learn something”

หลังจากที่ผมได้ไปแข่งขันเกม Catan ชิงแชมป์โลกที่เบอร์ลิน โชคดีมากครับที่อาทิตย์ถัดมาเยอรมันเค้าจัดงานบอร์ดเกมแฟร์ ( Spiel Essen 2014) พอดีที่เมือง Essen

งานนี้ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมันครับ แต่จริงๆแล้วถ้าจะบอกว่างานนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ผิด เพราะเยอรมันถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบอร์ดเกม

ในงานนี้ค่ายเกมใหญ่ๆของโลกต่างเปิดตัวเกมใหม่ๆ มีนักออกแบบเกมมาแจกลายเซ็น มีการออกโปรโมชั่นต่างๆ และ ที่น่าสนใจคือ ในงานนี้ ค่ายเกมต่างๆจะเปิดโต๊ะให้คนมานั่งเล่นเกมฟรีครับ มองไปทางไหนก็มีแต่คนนั่งเล่นเกม แบบว่าบรรยากาศสนุกสนานเสียงดังมาก ครึกครึ้นสุดๆ และอีกอย่างคือ ในงานนื้ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทในวงการเกมจะได้มาพบปะสนทนาธุรกิจกัน  และแน่นอนครับผมไมได้ไปคุยอะไรกับเค้าหรอก ผมไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาเฉยๆ กระผมมันแค่นักเล่นเกม

มีอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตได้จากงานนี้ครับ ซึ่งน่าสนใจมากๆ คือ คนเยอรมันมาเดินงานนี้เยอะมาก มากขนาดที่ว่าแถวซื้อตั๋วนี่ เค้าว่า ต่อคิวยาวเป็นชม.เลย ถ้าผมไม่ได้ซื้อตัวล่วงหน้า คงแย่เหมือนกัน

เชื่อมั้ยครับคนเยอรมันที่มาเดินในงาน ไม่ใช่เนิร์ดอย่างที่บ้านเราเข้าใจกัน แต่เป็นครอบครัวเพื่อนฝูงครับ พ่อแม่จูงลูกมาเลือกซื้อเกมกลับบ้าน เพื่อนมาเดินซื้อเกมไปเล่นด้วยกัน บางคนลากกระเป๋าเดินทางมาเลยครับ มาขนเกมกลับไปเล่น

จะว่าไปมันเหมือนกับงานสัปดาห์หนังสือบ้านเรานะครับ ที่ใครๆก็มากันเป็นเรื่องปรกติ

อีกอย่างที่น่าสนใจคือ เค้ามีการแจกลายเซ็นของนักออกแบบเกม (Game Designer) ครับ สำหรับบ้านเค้านักออกแบบเกมก็เหมือนกับนักเขียนครับที่มีแฟนคลับมีคนยกย่อง ขนาดว่า ในหน้าปกกล่องเกมต่างๆ เค้าจะมีการใส่ชื่อผู้ออกแบบเกมไว้เลย บางเกมนี่ แค่เห็นชื่อคนออกแบบก็ซื้อได้เลยไม่ต้องคิด เช่น Uwe Rosenberg หรือ Stefan Feld เป็นต้น

ภาพลักษณ์ของบอร์ดเกมในต่างประเทศมันเป็นภาพลักษณ์ที่ดีครับ เป็นสิ่งที่คนบ้านเค้าให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เล่นกันมาเป็นสิบๆปีแล้วครับ เพราะมันเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่มีประโยชน์และสามารถเล่นได้ด้วยกันทั้งครอบครัว

เพื่อนชาวเยอรมันของผมเล่าว่า ตอนเด็กๆแม่เค้าจะไม่ให้ดูทีวี ดังนั้นพี่น้องก็ต้องมานั่งเล่นบอร์ดเกมกัน หรือ พี่อีกคนหนึ่งที่เคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมัน เค้าเล่าว่า ตอนเค้าไปอยู่ที่โน่น (นานมาแล้ว) บ้านที่เค้าไปพักด้วยมีกฎว่า ต้องครอบครัวต้องเล่นบอร์ดเกมด้วยกันคืนละเกมก่อนนอน

บรรยากาศงาน บอร์ดเกมแฟร์ ( Spiel Essen 2014) บังเอิญผมได้ไปถ่ายคลิปบรรยากาศงานมาด้วยครับ  ลองเข้าไปดูได้ครับจะได้เห็นภาพว่ามันสนุกสนานแค่ไหน

ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 5: การพัฒนาวงการเกมในมุมมองของผม

images (7)1771759931..jpg

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

“If I’ve seen further than others, it is by standing upon the shoulders of giants.” – Isaac Newton

เมื่อวันที่ 11 – 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้ไปเข้าร่วมงานแข่ง Catan ชิงแชมป์โลก Catan World Championship 2014 (CWC 2014) ที่ประเทศเยอรมันนีครับ

การแข่งขันนี้จะจัดทุก 2 ปีครับ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ไทยเราได้เข้าร่วม งานนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 64 คน จาก 33 ประเทศ โดยในการแข่งขันรอบแรกจะเป็นรอบคัดตัว ที่ต้องแข่งกันทั้งหมด 4 เกม แล้วใครมีคะแนนสะสมสูงที่สุด 16 คน ก็จะได้เข้าไปสู่รอบ Semi Final และ Final ตามลำดับ

น่าเสียดายครับ ที่ผมตกรอบคัดตัว ไม่ได้ติด 16 คนสุดท้ายไปเข้ารอบ Semi Final

แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ได้ประสบการณ์หลาย ๆ อย่างเลย นอกเหนือจากประสบการณ์การแข่งขันแล้ว … สิ่งที่ผมว่าสำคัญมากคือ ผมได้เห็นว่าผู้เล่นบอร์ดเกมของต่างประเทศ เค้ามีการศึกษาการเรียนรู้บอร์ดเกมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การบันทึกเกม การวิเคราะห์เกม ไปจนถึงการรวบรวมสถิติต่าง ๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมตื่นตาตื่นใจมากที่สุดคือ แต่ละคนไม่มีใครหวงความรู้กันเลยครับ คือแต่ละคนพร้อมจะสอนกันและกัน ว่าใครมีเทคนิคยังไง มีกลยุทธ์ลูกเล่นดี ๆ ยังไง มันเหมือนกับว่า เป็นงานที่ผู้เชี่ยวชาญเกมคาทาน มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันครับ ผมได้มาคุยกับพวกเค้าแค่ 2 วันที่นี่ ผมก็ได้อะไรกลับไปอีกเพียบเลยครับ

ที่เจ๋งคือ มันมีเทคนิคการเล่นอย่างนึงครับ ที่ผมค้นพบมันก่อนจะเดินทางมาเยอรมัน ผมว่ามันเป็นเทคนิคที่น่าสนใจ แต่ผมยังใช้ได้ไม่คล่องและยังไม่รู้ว่าต้องใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่พอมาแข่งแล้วพบว่า เทคนิคที่ผมอุตส่าห์คิดขึ้นนี้ พวกฝรั่งเค้าใช้กันทุกคนเลยครับ แถมใช้ได้ทะลุมิติกว่าที่ผมคิดไว้ซะอีก

อันนี้เลยทำให้ผมคิดว่า จริง ๆ แล้วประเทศทางตะวันตก เค้าพัฒนากันไปได้ไกล อาจจะเป็นเพราะเค้าไม่แคร์ที่จะแชร์ความรู้ครับ เค้าไม่กลัวว่าคนอื่นจะรู้เท่ากับเรา แต่เค้าจะกลัวว่า มีอะไรอีกมั้ยที่เค้ายังไม่รู้มากกว่า นี่ขนาดว่ากำลังจะแข่งขันชิงแชมป์โลก เค้าก็ยังแชร์ความรู้และแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา ขนาดผมมาจากประเทศเล็ก ๆ ยังมีคนมาขอคุยด้วยเลยครับเรื่องเทคนิคการเล่น …

คือ จะว่าไปก็อาย ก็ความรู้ผมมันแค่มวยวัดน่ะครับ แต่พอเล่าให้เค้าฟัง เค้าบอกว่าขอบคุณมาก เพราะเค้าไม่เคยนึกถึงอะไรแบบนี้มากก่อน

กลับมาไทยรอบนี้ ผมอยากจะเผยแพร่ความรู้ที่ผมได้มาทั้งหมด ให้กับคนที่สนใจเล่นเกมคาทานครับ อยากให้ความรู้ได้ต่อยอด ไม่อยากให้แต่ละคนต้องมาเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เผื่อว่าแข่งชิงแชมป์โลกคราวหน้า จะมีคนไทยได้ติดเข้ารอบ Semi Final กับเค้าบ้าง

แต่ถามว่าใครอยากจะมาเรียนรู้ แล้วเรียนไปได้อะไร ก็นั่นสินะครับ บอร์ดเกมบ้านเรามันยังถูกมองเป็นของเล่น เป็นงานอดิเรก มากกว่ากีฬาจริงจัง … แต่ไม่เป็นไรครับ ถ้าเราไม่เริ่ม แล้วใครจะเริ่ม จริงมั้ยครับ

แนะนำบอร์ดเกม บอร์ดเกม ไม่ได้มีแต่เกมที่ต้องใช้กระดานนะครับ มันยังมีเกมพวกที่เป็นการ์ดเกม รอบนี้ขออนุญาตแนะนำการ์ดเกมระดับสุดยอด ชื่อเกม Bohnanza ครับ เกมน้ีเหมือนจะเล่นง่าย แต่คิดได้ลึกซึ้งสนุกสนานมาก ที่สำคัญ ใครสนใจหรือศึกษา Game Theory จะสนุกกับเกมนี้มาก!

ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 4: ความฝันสำหรับวงการบอร์ดเกม

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

10301421_642261672516950_7866426144549661035_n (1)

วันที่ 10 – 12 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ผมจะไปที่ประเทศเยอรมันนีเพื่อไปแข่งเกมคาทาน (the Settlers of Catan) ชิงแชมป์โลกครับ การแข่งคาทานชิงแชมป์โลกนี้ มีมาหลายปีแล้วครับแต่สำหรับคนไทยเราพึ่งมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมเป็นครั้งแรก

การแข่งขันจะจัดทุกๆ 2 ปีครับ โดยสถานที่จัดจะสลับกันจัดระหว่างประเทศเยอรมันนีและอเมริกา

ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกไปตอนต้นครับว่าปีนี้จัดที่เยอรมันนีเมืองเบอร์ลิน ส่วนปีที่ไม่มีชิงแชมป์โลก เค้าจะมีชิงแชมป์ทวีปยุโรป กับ แชมป์ทวีปอเมริกาเหนือแทน ผู้เข้าแข่งขันก็มาจาก 33 ประเทศครับ รวมถึงแชมป์โลกคนที่แล้ว (แชมป์โลกปี 2012) แชมยุโรป2013 และ แชมป์อเมริกาเหนือ 2013

สำหรับวงการบอร์ดเกม งานนี้ยิ่งใหญ่มากครับเพราะเกมคาทานถือได้ว่าเป็นบอร์ดเกมอันดับหนึ่งของโลก แต่ละประเทศ มีการจัดแข่งขันเพื่อหาตัวแทนไปแข่งซึ่งจัดกันจริงจังมากครับ ผู้เล่นแต่ละคนมีการฝึกซ้อม วางแผน เตรียมตัวกันอย่างเป็นระบบ เช่นในประเทศมาเลย์เซีย มีการแข่งขันกันร่วมเดือนเลยครับ โดยแบ่งการแข่งขันเป็นหลายๆรอบเพื่อหาตัวแทนจากรัฐต่างๆ และ มาจบที่ชิงแชมป์ประเทศ

ก็น่าเสียดายนะครับที่ผู้เล่นบอร์ดเกมในไทยยังมีไม่เยอะนัก การแข่งขันเลยยังไม่ยิ่งใหญ่เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผมเชื่อว่าปีหน้าจะมีคนมาเข้าร่วมแข่งคาทานชิงแชมป์ประเทศไทยหลายร้อยคนแน่นอน และ ในอนาคตจะมีการแข่งขันชิงแชมป์ภาคต่างๆ เพื่อหาตัวแทนมาชิงแชมป์ประเทศแน่นอน

ผมเชื่อว่าการจัดอีเวนท์การแข่งขันจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการบอร์ดเกมไทยครับ เพราะผมมองว่ามันจะช่วยทำให้คนทั่วไปเข้าใจบอร์ดเกมดีขึ้นครับ ว่าบอร์ดเกมไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เป็นเหมือนกีฬาชนิดหนึ่งได้เลยทีเดียวที่คนเล่นต้องมีการฝึกซ้อม การวางแผน และ การแข่งขัน นอกเหนือจากนี้การแข่งขันยังทำให้เรารู้สึกคึกคักด้วยครับ ประมาณว่าสนุกกว่าเล่นอยู่บ้านเฉยๆ 😀

ความฝันของผนนะครับ ผมอยากเห็นการแข่งขันบอร์ดเกมเกิดขึ้นในระดับโรงเรียนเลยครับ เช่นในการแข่งขันระหว่างโรงเรียน ในงานกีฬาสีเป็นต้น ฟังดูเพ้อฝันดีนะครับ แต่ผมเชื่อครับว่าถ้ามันเกิดขึ้นประเทศไทยเราจะดีขึ้นอีกเยอะครับ เพราะบอร์ดเกมมันเข้าถึงได้ง่ายกว่าหมากรุกแต่พัฒนาสมองได้ดีไม่แพ้กัน

แนะนำบอร์ดเกม นอกจากเกมคาทานแล้ว เกมอื่นที่มีชิงแชมป์โลกก็คือเกม Carcassonne ครับ เกมนี้เล่นง่ายมาก แต่สามารถเล่นได้ลึกซึ้งและซับซ้อนครับ ลองมาดูวิธีเล่นเกมนี้กันนะครับ

ปล.1 มีหลายๆคนถามผมว่า งานชิงแชมป์โลกนี้ถ้าชนะ ได้รางวัลอะไรบ้าง … เอาจริงๆนะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ 😛

ปล.2 แข่งขันงานนี้ผมจริงจังมากครับ ทำสมุดจดบันทึกวิธีการเล่นและเทคนิคต่างๆไว้เลย นอกจากนี้ผมยังพยายามคำนวนความน่าจะเป็นของการกระจายตัวของตัวเลขไว้ด้วย

10599614_908764665819710_64659664391005897_n

10660138_908764635819713_6836759896967106159_n

ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 3: ข้อคิดจากบอร์ดเกม

 

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

“The measure of intelligence is the ability to change” – Albert Einstein

ผมชอบเล่นหมากรุกมาตั้งแต่เด็กๆ ครับ มีความเซ็งที่เกิดกับผมเป็นประจำคือหมากรุกไทยจะโดนมองว่าเป็นของเล่นวินมอไซด์ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกีฬาด้วยซ้ำไป

ที่หนักคือผมเคยโดนอาจารย์ท่านนึงบอกว่าหมากรุกเป็นกีฬาชั้นต่ำ …

อันนี้ก็ว่าอาจารย์ท่านไม่ได้นะ เพราะบ้านเราคงมองหมากรุกแบบนี้จริงๆ ผมก็เกิดสงสัยว่า ทำไมหมากกระดานต่างประเทศถึงได้เป็นที่ยอมรับในของคนในประเทศเค้า เช่นว่า นักเล่นหมากรุกสากลจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่สุดยอดเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ หรือว่าที่ญี่ปุ่นเกมหมากล้อมถูกมองไปเป็นถึงขึ้นปรัชญาการใช้ชีวิต ปรัชญาการทำธุรกิจ

มันน่าสนใจนะครับ ที่ทำไมคนไทยเราไม่ได้มอง หมากรุกไทยในแง่ปรัชญาการใช้ชีวิตบ้าง ทั้งๆ ที่มันไม่ได้แตกต่างกันเลย

ผมเชื่อว่าหมากกระดานในไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับเพราะขาด Value Added ในแง่ปรัชญาหรือในแง่ภาพลักษณ์นี่ล่ะครับ

จนกระทั่งผมได้มาเล่นหมากรุกอย่างจริงๆ จังๆ ได้รู้จักได้เป็นศิษย์ของเซียนหมากรุกไทย ซึ่งก็คือ อ. ไพศาล (เซียนบัง) เจ้าของฉายาจอมยุทธ์พันรูป ซึ่งผมเรียกท่านว่า ”จารย์บัง” ครับ สิ่งที่จารย์บังสอนผม ไม่ได้สอนแค่วิธีเล่นหมากรุก แต่สอนกระทั่งแนวคิด วิธีการใช้ชีวิต มุมมองชีวิตจากหมากรุก

(ปล. ผมไม่ได้ติดต่อจารย์บังหลังจากผมไปทำงานต่างประเทศ ทีนี้พอผมแข่งจนได้แชมป์คาทาน (The Settlers of Catan)  และ กำลังจะไปชิงแชมป์โลก ผมก็พยายามติดต่ออาจารย์อีกครั้งแต่พบว่าอาจารย์เปลี่ยนเบอร์มือถือไปละ ก็น่าเสียดายครับ ผมอยากจะไปรายงานความสำเร็จให้อาจารย์ท่านทราบ อยากจะบอกท่านว่า ผมได้แชมป์ประเทศไทยเพราะแนวคิดที่อาจารย์ทุ่มเทสอนผมเมื่อหลายสิบปีก่อน)

แนวคิดหนึ่งที่ผมปรับเอามาใช้ถึงทุกวันนี้ ผมเรียกมันว่า “สูตรเดียวสู้โลก” ….

คือว่า หมากรุกมันซับซ้อน หลากหลาย และ พลิกแพลง ทางหนึ่งที่เราจะช่วยให้เราเล่นหมากรุกได้ดีคือ มีหลักการที่ชัดเจนที่เรายึดถือไว้ ไม่ว่าใครจะมาอย่างไรเราก็ยึดหลักนี้ไว้แล้วเอามารับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลง

อันนี้จะว่าไปก็คล้ายๆ กับ เคล็ดวิชา “เก้ากระบี่เดียวดาย” ในกระบี่เย้ยยุทธจักร 555

หลักการนี้ผมก็ลองปรับเอามาใช้กับการเรียน จากเด็กเรียนงั้นๆ มาเป็นได้ 4 ทุกวิชาและเอ็นท์ติดวิศวฯ จุฬาฯ แล้วก็ยังใช้หลักการนี้มาปรับใช้ในการเรียนวิศวฯ จนถึงการทำงานเป็นวิศวกรทุกวันนี้

คือ ผมจะไม่เป็นคนที่จำทุกอย่าง แต่ชอบที่จะเสียเวลามาหาหลักการใจความของเรื่องที่กำลังทำ แล้วยึดมันไว้เป็นแก่น พอมีเรื่องราวปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องไปสนใจในความซับซ้อนสับสน และหันมาดูที่หลักการ แล้วหาวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ตรงจุด

ฟังดูง่ายใช่มั้ยครับ แต่ผมกลับเห็นว่า หลายๆ คนลืมประเด็นนี้ไป เวลาทำงานจริงๆ แต่จะว่าไปแล้วสิ่งที่สำคัญมากที่ผมได้มาจากจารย์บัง ไม่ใช่แค่แนวคิดจากหมากรุก แต่คือ การสร้างแนวคิดให้ตัวเอง เราสามารถจะหาข้อคิดและมุมมองได้จากสิ่งที่เราเข้าไปทำ

แต่ก็แปลกนะครับเพราะมันได้กลายเป็นนิสัยของผมไปแล้ว กับการเก็บเรื่องต่างๆ ที่ทำมาเป็นข้อคิดส่วนตัว ซึ่งปรกติก็ไม่พูดให้ใครฟังหรอกครับ ผมชอบเก็บมันเงียบๆ ไว้ในใจ อย่างมากก็เล่าแลกเปลี่ยนให้คุณภรรยาฟัง

จนไม่นานมานี้ เมื่อผมมาได้เล่นเกมคาทาน (The Settlers of Catan) ครับ …แนวคิดมุมมองมันพรั่งพรูออกมา แต่ละเกมที่ผมเล่น เหมือนผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาและได้ข้อคิดอะไรออกมาเรื่อยๆ ซึ่งมันแปลกและมันน่าสนใจมากครับ

แนวคิดที่สำคัญมากที่ผมได้จากการเล่นคาทานคือ Flexibility คือ ผมพึ่งมาตระหนักว่าการวางแผนที่ชัดเจนนั้นคือการวางแผนที่มี Flexibility

คือพอผมโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผมเริ่มเข้าใจว่าจริงๆ แล้วชีวิตเรามันไม่ Solid แต่มัน Dynamic มันมีหลายๆ อย่างที่เราไม่รู้ เราไม่เห็น เราคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเราต้องวางแผนให้ชัดเจนมากพอแต่ก็ต้องยืดหยุ่นมากพอเช่นกัน …

ถามว่า เท่าไรถึงจะเรียกว่าพอดี อันนี้มันเป็นศิลปะแล้วครับ มันบอกเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ … ถ้าอยากจะฝึกตรงนี้ แนะนำให้เล่นคาทานเลยครับ เกมนี้จะฝึกให้คุณได้หัดการวางแผนแบบมี Flexibility ได้อย่างถึงกึ๋น 😀

แนะนำบอร์ดเกม ผมเคยทำคลิปสอนเล่นเกมคาทานไว้ ลองเข้าไปดูได้ครับ เพื่อจะได้ไอเดียว่าเกมนี้มันเป็นยังไง ทำไมมันถึงได้เป็นเกมที่ดีและโด่งดัง

 

ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 2: โรคกลัวแพ้

pexels-photo-277052.jpeg

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

“The goal is to win, but it is the goal that is important, not the winning.” Reiner Knizia (Famous Board Game Designer)

ตอนที่ 2 แล้วนะครับ เกี่ยวกับ ข้อคิดที่ได้จากการเล่นบอร์ดเกม ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของบอร์ดเกมนะครับ คือ มันคล้ายกับหมากรุก แต่เป็นหมากรุกที่มี Theme มีเรื่องราวสนุกสนาน และ ไม่เครียดเท่าหมากรุก

แต่พอมันคล้ายหมากรุก มันก็จะมีภาพว่ามันเป็น Brain Game ที่คนเล่นเก่งจะดูเป็นคนฉลาด และมันก็ทำให้เกิดมุมมองผิด ๆ ว่า คนที่เล่นแพ้คือคนโง่ หลาย ๆ คนที่เล่นบอร์ดเกมเลยมีโรคอย่างหนึ่งครับ ผมเรียกว่า “โรคกลัวแพ้”

โรคกลัวแพ้นี้มักจะเกิดกับคนที่เริ่มหัดเล่นใหม่ ๆ ครับ บางคนกลัวแพ้จนทะเลาะกับเพื่อนจนร้องไห้ไปเลยก็มี

มันก็น่าแปลกนะครับ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่เกม แต่ก็มีคนไปจริงจังกับมัน และมันก็ย่ิงน่าสนใจขึ้นไปอีกว่า คนที่กลัวการแพ้ มักจะไม่ใช่คนที่ชนะ ผมว่ามันอาจเป็นเพราะ การกลัวแพ้จะทำให้เราไม่กล้าคิดอะไรใหม่ ๆ ไม่กล้าลงมือทำ และทำให้เราสูญเสีย Creativity ไป

ความคิดว่ากลัวความผิดพลาด กลัวการโดนตำหนิ กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น นี่มันน่าสนใจนะครับ

นักเล่นบอร์ดเกมเก่ง ๆ ฝีมือดี ๆ ที่ผมรู้จัก ล้วนแต่ไม่กลัวการแพ้ ไม่กลัวการลองคิด ไม่กลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ พวกเขาไม่ได้เล่นแค่เพราะอยากจะชนะ แต่เขาเล่นเพราะอยากใช้ฝีมือให้เต็มที่  และที่น่าสนใจคือในชีวิตประจำวัน พวกเขาก็ประสบความสำเร็จ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และหลาย ๆ คนเป็นผู้นำในวงการอาชีพของตัวเอง

อันนี้ผมก็ไม่ทราบนะครับว่ามันเป็นเพราะพวกเขาเป็นคนมีทัศนคติดีๆ อยู่แล้ว ทำให้พอมาเล่นบอร์ดเกม เลยเล่นออกมาได้ดี หรือ การเล่นบอร์ดเกมต่างหากที่พัฒนาตัวเขา … แต่จากการได้ลองคุยกับพี่ๆ เหล่านี้บางท่าน ก็ล้วนแต่บอกว่าเขาใช้บอร์ดเกมพัฒนาตัวเองครับ!

ได้คิด จน คิดได้ ตอนที่ 1: บอร์ดเกม คืออะไร?

“บางที เราควรหยุดคิด เพื่อมาคิดว่า ตอนนี้เราควรจะคิดอะไร”

ผมว่า บางทีเราก็ต้องหยุดคิดบ้างนะ เพื่อหันมาทบทวนดูว่า ตอนนี้เราควรคิดอะไรกันแน่ หลาย ๆ ครั้งผมเจอว่า สิ่งที่เราควรคิดไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังคิด ประโยคนี้มันผุดขึ้นมาในหัวผม ตอนที่ผมกำลังนั่งเล่นบอร์ดเกมที่ชื่อว่า Caylus ครับ (http://boardgamegeek.com/boardgame/18602/caylus) แต่ว่า Caylus คืออะไร … Caylus คือหนึ่งในบอร์ดเกมยุคใหม่ ถ้าให้เทียบก็เหมือนกับเกมเศรษฐีที่เราคุ้น ๆ กันน่ะครับ แต่มันพัฒนาไปไกลกว่ามากครับ

บอร์ดเกมยุคใหม่คืออะไร?

บอร์ดเกมยุคใหม่เป็นที่นิยมในยุโรปครับ โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน จนมีคำเรียกบอร์ดเกมประเภทนี้ว่า German-style Board Game เกมเหล่านี้จะไม่มีผู้เล่นถูกกำจัดออกจากเกม ไม่มีใครต้องนั่งเบื่อรอเกมจบ เป็นเกมที่ต้องใช้ทักษะการวางแผนมากกว่าใช้ดวง ที่สำคัญคือจะเล่นให้ฮาหรือจริงจังก็ได้ในเวลาเดียวกัน! คุณ “สฤณี อาชวานันทกุล” เคยเขียนบทความเกี่ยวกับบอร์ดเกมยุคใหม่ไว้ครับ ชื่อว่า “ลาก่อนเกมเศรษฐี” ลงนิตยสารสารคดี http://www.sarakadee.com/2011/09/29/goodbye-monopoly/ คุณสฤณี ได้สรุปข้อดีของบอร์ดเกมไว้อย่างเข้าใจง่ายและเห็นภาพมาก ๆ ผมถือว่าเป็นบทความที่ดีที่สุดบทความหนึ่งของไทยเกี่ยวกับบอร์ดเกมเลย ผมคงไม่มีปัญญาไปบรรรยายได้เทียบเท่าคุณสฤณีหรอกครับ ดังนั้น เชิญเข้าไปอ่านเลยครับผม 😀

ผมมาเจอกับบอร์ดเกมนี้ได้อย่างไร?

ผมชอบเล่นหมากกระดานมาตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ โดยเฉพาะหมากรุก ตอน ม.ปลาย ผมกับเพื่อน ๆ ชอบรวมตัวกันออกไปเล่นหมากรุกตามที่ต่าง ๆ ต่อมาผมได้ไปทำงานประจำที่ต่างประเทศและได้ไปเจอกับบอร์ดเกมครับ จากนั้นมาผมก็หลงใหลเกมพวกนี้ และพยายามแนะนำให้คนรอบตัวได้เล่น ซึ่งก็ติดกันงอมแงมไปหลายคน และด้วยความบ้าคลั่งเล่นบอร์ดเกมของผม ผมก็ได้ไปลงแข่งขันบอร์ดเกมชิงแชมป์ประเทศไทย เกมชื่อว่า “The Settlers of Catan” และโชคดีได้เป็นแชมป์ประเทศไทยคนแรก และกำลังจะไปชิงแชมป์โลกในเดือนตุลาคม 2557 นี้ครับ เล่าเรื่องตัวเองทำไม ก็เพียงแต่อยากให้เราได้รู้จักกันนิดหน่อย ก่อนที่เราจะคุยกันน่ะครับ … พอดีกว่า เขียนเรื่องตัวเองแล้วมันเขิน

ความแปลกของบอร์ดเกม

มันน่าแปลกนะครับ ที่เราเล่นบอร์ดเกมเพื่อความสนุกผ่อนคลาย แต่ว่า หลังจากที่เล่นไป ผมสังเกตได้อย่างนึงว่า เราได้ข้อคิดจากมันนะ มันเป็นข้อคิดที่ไม่ได้มีใครยัดเยียดให้เราคิดหรือแนะนำว่าต้องคิด แต่มันผุดขึ้นมาเอง เพื่อนรักผมคนหนึ่งบอกกับผมว่า “เราเข้าใจตัวเองแล้วนะ ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยกล้าตั้งเป้าหมายให้กับชีวิตเลย ถึงจะตั้งใจทำอะไรลงไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด” ในขณะที่อีกคนก็บอกผมว่า “เราเพิ่งเข้าใจตัวเองนะ ว่าเราเป็นคนกลัวการทำเป้าหมายไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาเราเลยตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่เราคิดว่าจะทำได้เท่านั้น” เพื่อนทั้งสองคนนี้เล่าให้ผมฟัง หลังจากที่เขาได้ลองเล่นเกม Ticket to Ride ครับ สำหรับผม บอร์ดเกมที่ดี มันจะจำลองการใช้ชีวิตให้เราครับ ให้เราได้ลองผิดลองถูกอะไรบางอย่างในช่วงเวลาสั้น ๆ เราต้องตัดใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาระหว่างเกม ซึ่งการจำลองสถานะการณ์นี้เอง มันทำให้เราได้คิดครับ มันทำให้เราได้ลองผิดลองถูก ได้เห็นผลลัพธ์ และได้เรียนรู้ มันช่วยให้เราประหยัดเวลาไม่ต้องไปลองผิดลองถูกในชีวิตจริง แต่ก็นั่นล่ะครับ เกมมันไม่ได้สอนเรา เราต้องสอนตัวเอง

แนะนำบอร์ดเกม

สำหรับท่านที่ไม่รู้จักบอร์ดเกมเลย ผมขออนุญาตแนะนำเกมให้รู้จักซักเกมหนึ่งนะครับ จะได้เห็นไอเดียว่าบอร์ดเกมมันพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ไม่ได้ไก่กาอาราเล่ เกมที่ขอแนะนำในตอนนี้คือเกม “Camel Up!” เป็นเกมที่พึ่งได้รางวัลเกมยอดเยี่ยมแห่งปี 2014 ครับ … เล่นง่าย สนุก ฮา หัวเราะเสียงดัง แต่ถ้าจะคิดให้ลึก ก็ลึกได้ชนิดว่านั่งเงียบกุมขมับครับ

เป็นบทความที่ผมเคยเขียนลง http://afterword.co/blog/ ครับ

Game Theory ในการเล่นบอร์ดเกม

10363847_1009431989086310_3197580722242552842_n

Game Theory เป็นคอนเซปที่โด่งดังที่ทุกคนคงรู้จักนะครับ บอร์ดเกมที่พวกเราเล่นๆกัน ก็มันจะมีหลักการของ Game Theory แทรกอยู่เสมอๆ ทำให้ผู้เล่นให้สับสนเล่นว่าควรจะตัดสินใจวางแผนยังไงดี ที่เราจะเจอบ่อยคือ Prisoner’s dilemma ครับ

เช่นในเกม Carcassonne ที่เวลาเรากับเพื่อนกำลังร่วมกันสร้าง City ถ้า 2 คนช่วยกันจั่วและก็แบ่งๆแต้มกันไป แต่ถ้าเราวาง Meeple เพิ่มเพื่อเอา Majority โดยกะจะเอาแต้มคนเดียว (Take All) ซึ่งก็มีความเสี่ยงว่า เพื่อนจะไม่ช่วยเรา เราต้องลุ้นจั่ว tile คนเดียว แถมอาจจะเพื่อนโดนกันจนปิดเมืองไม่ลง และ ตัว Meeple เราจะไม่ได้กลับขึ้นมือ ซื่งถือว่าสาหัสมาก ดังนั้น การตัดสินใจที่ฉลาดอาจจะเป็นร่วมมือกัน (แต่ก็นั่นหล่ะครับ หลายๆครั้งกระทั่งตัวผมเองก็เลือกที่จะ Take All แล้วก็เจ๊งไป)

หรือกรณีที่สนุกมากคือการร่วมมือและหักหลังกันครับ เช่นในเวลาเล่นเกม 3 คน ปรกติถ้า 3 คนฝีมือพอๆกัน โอกาสชนะของแต่ละคนก็ 1/3 แต่ถ้ามีสองคนจับมือกันรุมอีกคน (ในคาทานเจอผมโดนบ่อย 555) โอกาสชนะของคนที่จับมือกันจะเพิ่มเป็น ½ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว แล้ว2คนนี้ค่อยมาไฟวท์กันทีหลัง แต่ทีนี้ ถ้ามีคนนึงหักหลังเพื่อน คนที่หักหลัง จะมีโอกาสชนะเพิ่มขึ้นมากกว่า ½ ในทันที แต่ทีนี้ ถ้าทั้ง 2 คน หักหลังกันเอง จะกลายเป็นว่าอาจจะแพ้ทั้ง 2 คน แล้วคนที่ 3 ที่ตอนแรกจะโดนรุมกลายเป็นได้เปรียบขึ้นมาจนอาจจะชนะได้ ทีนี้เราจะเล่นยังไงดี สุดท้ายทุกคนก็เลยอาจเลือกที่จะเล่นต่างคนต่างเล่น เพราะการร่วมมือกัน มันไม่ได้การันตีว่าเราจะชนะ

แต่ก็นั่นหล่ะครับ การจับมือกัน และ การหักหลังกัน ก็ยังเกิดตลอดเวลาในการเล่นบอร์ดเกม (เล่น Caylus นี่เจอตลอด วัดใจกันมากว่าจะโดนหักหลังมั้ย) แต่ปรกติแล้ว การจับมือกันนี่ก็มันจะเกิดตอนมีคนนึงเริ่มทิ้งห่าง แล้วที่เหลือต้องร่วมมือกันเพื่อตามให้ทัน

นี่ก็คร่าวๆนะครับ เล่นบอร์ดเกมมันดีตรงนี้หล่ะครับ ที่เราจะได้ศึกษาหลักจิตวิทยาไปได้โดยไม่รู้ตัว 😀

จั่วการ์ดให้ชีวิตบ้าง [ข้อคิดจากบอร์ดเกม]

pexels-photo-262333.jpeg

วันก่อน น้องที่ผมเคารพท่านนึงได้มาปรึกษาเรื่องอนาคตส่วนตัว คือ น้องเค้าชอบเล่นคาทาน ผมก็เล่าไปว่า ตัวผมเองเนี่ยมีสันดานส่วนตัวอย่างนึงคือ ชอบมองอะไรเป็นเกม เป็นหมากรุกบ้าง เป็นคาทานบ้าง

คือผมชอบคิดว่า ปัญหาของเราเนี่ย ถ้าเปรียบเป็นเกมเราจะทำยังไง

ผมก็บอกน้องไปว่า … ปัญหานี้เหมือนกับว่าเราเล่นคาทานอยู่แล้วลังเลว่าจะจั่วการ์ดดี หรือ สร้าง city ดี

คือมันต้องอ่านให้ขาดว่า จริงๆแล้วตอนนี้เกมของเรา เราต้องการอะไร ต้องเสริมอะไร

ถ้าจั่วการ์ดเนี่ย เราก็ไม่รู้ว่าจะได้ไพ่อะไร ไพ่อาจไม่เข้ามือ แต่ที่แน่ๆ คือ เราจะเล่นเกมได้อย่างมี flexibility มากขึ้น

พวกเรานักเล่นเกมคงรู้ดีว่า ถ้าเล่นคาทานแล้วเราไม่มีไพ่ แต่เพื่อนมีไพ่อมไว้คนละ 1-2 ใบเนี่ย ชีวิตมันอึดอัดมาก การลงทุนในการ์ดบ้างก็ไม่ได้เป็นแย่อะไร

แล้วน้องก็กลับไปคิด

ต่อมาน้องก็เดินมาบอกว่า … ผมคิดอะไรได้ละ ผมว่า ชีวิตผม ผมจั่วการ์ดน้อยไป ผมว่าจะผมลองจั่วการ์ดให้ชีวิตดูบ้างละพี่

แล้วน้องเค้าก็ตัดสินใจได้

ชีวิตมันก็เหมือนเกมครับ บางทีเกมมันก็ให้ข้อคิดได้จริงๆนะ อันนี้ผมนั่งยันนอนยันเลย

จะว่าไปผมนี่ก็บ้าเกมคาทานนะ เอามาเป็นข้อคิดได้ซะงั้น

เรื่องเร้นลับของวงการเกม!

วงการบอร์ดเกมก็มีเรื่องเร้นลับนะครับ คือเกม Illuminati card game ไว้ใครว่างๆเข้าไปศึกษาได้ เรื่องนี้ระดับตำนานเลย

หลักๆคือ มันเป็นเกมไพ่ที่ขายปี1995 ธีมเกี่ยวกับทฤษฤีสมคมคิด Illuminati ความเด็ดมันคือภาพที่วาดครับ เพราะภาพที่วาดไว้บนไพ่แต่ละใบ มันดันไปตรงกับเหตุการณ์สำคัญของโลกที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ย้ำนะ ว่าเกมขายปี1995 แต่มีภาพเครื่องบินชนตึกแฝด การถล่มเพนทากอนปี 2001 ภาพที่เชื่อว่าเป็นภาพโอบาม่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด Elisa Lam หรือ Boston Marathon คือบางรูปดูไปก็ดูไม่ออก แต่พออ่านคำที่มันเขียนบนไพ่แล้ว แบบว่าถึงจะเข้าใจ

ผมว่ามันก็เป็นแค่เรื่องบังเอิญหล่ะครับ สนุกๆ คือไพ่มันเยอะมากกกก จะมีโดนบ้างเหมือนๆบ้างก็เป็นไปได้

แต่ว่าก็มีคนที่เอาไพ่ชุดนี้มานั่งวิเคราะห์กันจริงจัง เช่นอาจจะเกิด การวินาศกรรมในงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น อีกอย่าง มีคนเจอว่าโดนัลทรัมป์ได้ถูกทำนายอยู่ในไพ่ในนึงด้วยนะ …

คือผมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วพยายามโยงมาหาไพ่มันก็ทำได้หล่ะ
อยากจะบอกว่าผมเคยมีบุญได้จับไพ่ชุดนี้ของจริงครั้งนึง แบบว่าขนลุก (เจ้าของเองเห็นว่ายังไม่รู้ตัวเลยว่าเกมตัวเองมี story ขนาดไหน) แบบว่าตอนนี้เกมนี้มันเป็น rare item ไปเรียบร้อยละครับ

ข้อคิดจากบอร์ดเกม

10439521_847247165304794_3768356484910710014_n

“วงการนี้ เค้าปลูกถั่วกันเก่งมากเลยเนอะ”

แฟนผมพูดหลังจากได้ยินผมเล่าเรื่อง การเป็นพันธมิตรกันของร้านบอร์ดเกมใหญ่ๆในไทย

ปลูกถั่วเป็นชื่อเล่นของเกม Bohnanza ครับ ที่ผู้เล่นแข่งกันปลูกถั่ว แต่การที่เราจะได้แต้มเราต้องให้เพื่อนได้แต้มด้วย! นั่นคือนี่เป็นเกมของการช่วยกัน (แต่ชนะคนเดียวนะ) บางคนเหมือนจะช่วยแบบขาดทุนหลายครั้ง แต่จบเกมชนะ

เราเล่นเกมแล้วได้ไอเดียครับ ได้แนวความคิด ที่จะเอามาปรับใช้ ผมมองว่าการเล่นบอร์ดเกมมันเหมือนการซ้อมใช้ชีวิตครับ เราจะได้ไอเดียว่าชีวิตจริงเราควรตีดสินใจยังไง